วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บทที่ 8 เรื่องที่ 2แอพพลิเคชั่น ระดับองค์กร

ระบบวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจแบบทั่วทั้งองค์กร  (ERP)
           ระบบ  ERP  เป็นการบูรณาการชุดซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้เพื่อสนับสนุนงานพื้นฐานทางกระบวนการธุรกิจขององค์กร  ด้วยการรวมงานหลักต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานทางธุรกิจในทุกส่วนขององค์กรเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว  เช่น  ระบบการผลิต  การขาย  การขนส่ง  การบัญชี  การเงิน  การตลาด  ทรัพยากรมนุษย์  เป็นต้น  ส่งผลให้ระบบงานต่าง ๆ  เหล่านี้มีการเชื่อมโยงถึงกันแบบทั่วทั้งองค์กร
ระบบจัดการโซ่อุปทาน  (SCM)
           การจัดการโซ่อุปทาน หรือ SCM  คือกระบวนการจัดการกิจกรรมในโซ่   อุปทาน  ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปลายทางให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งเริ่มต้นจากการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ  จนกระทั่งสินค้าหรือบริการนั้นถูกใช้โดยผู้บริโภค  โดยกิจกรรมที่ต้องเข้าไปจัดการดูแลก็คือ  การจัดการสินค้าคงคลัง  การจัดหาวัตถุดิบ  การแปลงรูปวัตถุดิบมาเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย  การส่งของ  และระบบขนส่งโลจิสติกส์
ระบบ  RFID
            RFID ย่อมาจากคำว่า Radio Frequency Identification เป็นระบบฉลากที่ได้ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 โดยที่อุปกรณ์ RFID ที่มีการประดิษฐ์ขึ้นใช้งานเป็นครั้งแรกนั้น เป็นผลงานของ Leon Theremin ซึ่งสร้างให้กับรัฐบาลของประเทศรัสเซียในปี ค.ศ. 1945 ซึ่งอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นมาในเวลานั้นทำหน้าที่เป็นเครื่องมือดักจับสัญญาณ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวระบุเอกลักษณ์อย่างที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน
            RFID ในปัจจุบันมีลักษณะเป็นป้ายอิเล็กทรอนิกส์ (RFID Tag) ที่สามารถอ่านค่าได้โดยผ่านคลื่นวิทยุจากระยะห่าง เพื่อตรวจ ติดตามและบันทึกข้อมูลที่ติดอยู่กับป้าย ซึ่งนำไปฝังไว้ในหรือติดอยู่กับวัตถุต่างๆเช่น ผลิตภัณฑ์ กล่อง หรือสิ่งของใดๆ สามารถติดตามข้อมูลของวัตถุ 1 ชิ้นว่า คืออะไร ผลิตที่ไหน ใครเป็นผู้ผลิต ผลิตอย่างไร ผลิตวันไหน และเมื่อไร ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนกี่ชิ้น และแต่ละชิ้นมาจากที่ไหน รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้งของวัตถุนั้น ๆ ในปัจจุปันว่าอยู่ส่วนใดในโลก โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการสัมผัส (Contact-Less) หรือต้องเห็นวัตถุนั้นๆ ก่อน  ทำงานโดยใช้เครื่องอ่านที่สื่อสารกับป้ายด้วยคลื่นวิทยุในการอ่านและเขียนข้อมูล    RFID มีข้อได้เปรียบเหนือกว่าระบบบาร์โค้ดดังนี้
  1. มีความละเอียด และสามารถบรรจุข้อมูลได้มากกว่า ซึ่งทำให้สามารถแยกความแตกต่างของสินค้าแต่ละ   ชิ้นแม้จะเป็น SKU (Stock Keeping Unit – ชนิดสินค้า) เดียวกันก็ตาม
  2. ความเร็วในการอ่านข้อมูลจากแถบ RFID เร็วกว่าการอ่านข้อมูลจากแถบบาร์โค้ดหลายสิบเท่า
  3. สามารถอ่านข้อมูลได้พร้อมกันหลาย ๆ แถบ RFID
  4. สามารถส่งข้อมูลไปยังเครื่องรับได้โดยไม่จำเป็นต้องนำไปจ่อในมุมที่เหมาะสมอย่างการใช้เครื่องอ่านบาร์โค้ด (Non-Line of Sight)
  5. ค่าเฉลี่ยของความถูกต้องของการอ่านข้อมูลด้วยเทคโนโลยี RFID นั้นจะอยู่ที่ประมาณ 99.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ความถูกต้องของการอ่านข้อมูลด้วยระบบบาร์โค้ดอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์
  6. สามารถเขียนทับข้อมูลได้ จึงทำให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ซึ่งจะลดต้นทุนของการผลิตป้ายสินค้า ซึ่งคิดเป็นประมาณ 5% ของรายรับของบริษัท
  7. สามารถขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการอ่านข้อมูลซ้ำที่อาจเกิดขึ้นจากระบบบาร์โค้ด
  8. ความเสียหายของป้ายชื่อ (Tag) น้อยกว่าเนื่องจากไม่จำเป็นต้องติดไว้ภายนอกบรรจุภัณฑ์
  9. ระบบความปลอดภัยสูงกว่า ยากต่อการปลอมแปลงและลอกเลียนแบบ
  10. ทนทานต่อความเปียกชื้น แรงสั่นสะเทือน การกระทบกระแทก
ระบบ  RFID  สามารถนำมาใช้กับงานจัดการด้านโลจิสติกส์ในโซ่อุปทานคือ
1.  การจัดการทรัพย์สินในคลังสินค้า
2.  การติดตามการผลิต
3.  การควบคุมสินค้าคงคลัง
4.  การจัดส่งและการรับสินค้า
5.  การส่งสินค้ากลับคืนและการเรียกคืนสินค้า
6.  การจัดการและควบคุมการขนส่ง
7.  การตรวจสอบย้อนกลับ

ระบบจัดการลูกค้าสัมพันธ์  (CRM)
            ระบบจัดการลูกค้าสัมพันธ์  หรือระบบ  CRM  เป็นระบบที่องค์กรสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยจัดการด้านความสัมพันธ์กับลูกค้า  เพื่อรักษาฐานลูกค้าเอาไว้โดยระบบ  CRM  ที่สมบูรณ์  จะจัดเตรียมสารสนเทศที่มีการประสานงานทางกระบวนการธุรกิจทั้งหมดเข้าด้วยกัน  เพื่อติดต่อกับลูกค้าทั้งในเรื่องของการขาย  การตลาด  และการบริการ
               ที่มา https://www.l3nr.org/posts/533129

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น